ชุมชนบ้านม่วงชุม จ เชียงราย
ชุมชนบ้านม่วงชุม จ.เชียงราย
ประชากรหลักของบ้านม่วงชุมที่คือคนเมือง มาตั้งหมู่บ้านอยู่ระหว่างลำห้วยสองสาย คือห้วยม่วงชุมกับห้วยซาง ต่อมาเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2509 จึงอพยพมาอยู่ในที่ดอนซึ่งติดกับดอยยาว
ชาวบ้านเคยมีอาชีพตัดไม้เผาถ่าน (เช่น แงะ เปา ก่อ เคาะ มะค่า เก็ด ชิงชัง มะม่วงป่า) ถ่านไม้บ้านม่วงชุมจำหน่ายทั่ว อ.เชียงของ จนถูกตำหนิว่าเป็นหมู่บ้านที่มีการตัดไม้ทำลายป่ามากที่สุดในอำเภอ จนในปี 2523ผู้นำชุมชนละอายใจถึงกับทำลายเตาเผาถ่านของชาวบ้านในป่าที่มีมากกว่าร้อยเตา แต่อาชีพเผาถ่านก็ยังไม่ยุติ
ปี 2541 เกิดปัญหาน้ำแล้งประกอบกับมีโครงการขุดลอกหนองขอนแก่น ซึ่งต้องตัดไม้เป็นวงกว้าง ชาวบ้านส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยทำให้เกิดกระแสการอนุรักษ์ป่าและแม่น้ำอิง นำไปสู่การยุติอาชีพเผาถ่าน การอนุรักษ์ป่าหนองขอนแก่นจึงเริ่มอย่างจริงจังในปี 2545 มีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการน้ำชุมชน สำรวจและเก็บข้อมูล จัดทำแผนที่ป่าและแหล่งน้ำชุมชน จัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำในแม่น้ำอิง กำหนดเขตอนุรักษ์ ออกกฎระเบียบ ตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนโดยใช้โครงสร้างของคณะกรรมการหมู่บ้าน จัดทำโครงการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำในลุ่มน้ำอิง สำรวจรวบรวมพันธุ์พืชและสัตว์ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ นำความเชื่อมาใช้ในการอนุรักษ์ เช่น การบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ และมีการดำเนินงานร่วมกับภาคีภาครัฐ ท้องถิ่น สามารถเชื่อมโยงระบบนิเวศทั้งป่าบกและพื้นที่ชุ่มน้ำ ให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ทำให้บ้านม่วงชุมได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 4 ชุมชนต้นแบบด้านการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่นำร่อง ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำอิง-โขง
หลังจากได้รับการปรับเปลี่ยนหลังจากได้รับรางวัลลุกโลกสีเขียวในปี 2553 ชุมชนขยายพื้นที่จากป่าหนองขอนแก่น 406 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา ขึ้นทะเบียนป่าชุมชน เพิ่มพื้นที่ป่าบกอีก 2 พื้นที่ คือ ป่าชุมชนต้นน้ำสาขา 3,817 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวา และป่าชุมชนดอยโตน 97 ไร่ อยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาดอยยาว เป็นแหล่งต้นน้ำสายหลักของหมู่บ้าน (ห้วยม่วงชุม) และพบเต่าปูลูในพื้นที่ป่าบกซึ่งไม่พบเห็นมานานกว่าสิบปี
มีการบริหารจัดการน้ำ โดยทำงานร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเทศบาลตำบลครึ่ง คือ สร้างฝายดักตะกอนแบบหินก่อเพื่อสร้างความชุ่มชื้นในป่าและชะลอน้ำ ทำระบบส่ง/กระจายน้ำ ได้แก่ ขุดบ่อดักตะกอนก่อนลงไปสู่อ่างเก็บน้ำม่วงชุม แต่ละปีเก็บตะกอนได้ประมาณ 1,600 ลบม. และทำระบบการเก็บน้ำ ได้แก่ ขุดลอกลำห้วยม่วงชุมตอนล่างระยะทาง 1,000 เมตร พร้อมสร้างฝาย 6 ฝาย ขุดสระสำรองน้ำเพื่อเป็นแก้มลิงจำนวน 7 แห่ง และขุดสระประจำไร่นา
จัดทำกติกาการใช้น้ำอย่างมีส่วนร่วม เช่น ทุกครัวเรือนร่วมพัฒนาบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำปีละ 2 ครั้ง การซ่อมบำรุง สมทบกองทุนการจัดการน้ำปีละ 30 บาท เป็นต้น ทำให้หลายครอบครัวเปลี่ยนจากทำนาอย่างเดียว มาเป็นทำเกษตรทฤษฎีใหม่ หรือการเกษตรแบบองค์รวม (Smart Farming) สอดคล้องหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้ผลดีเพราะไม่ขาดแคลนน้ำ
ชุมชนทำงานแบบการจัดการร่วม (Co-management) กับท้องที่ ท้องถิ่น ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ และองค์กรพัฒนาสังคม