1,343

บทเรียนสู่ความยั่งยืน : ชุมชนบ้านอาลอ-โดนแบน จ.สุรินทร์

     ป่าริมน้ำ มีคุณค่ามหาศาลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสัตว์ การทำความเข้าใจแม่น้ำลำธารที่มองจากความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำเป็นเบื้องต้น ทำให้เห็น "ห่วงโซ่อาหาร" อันเป็นจุดเริ่มต้นของความอุดมสมบูรณ์ของสรรพสิ่งมีชีวิตในลำน้ำ รวมถึงการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ เช่นเดียวกับป่าทามริมน้ำที่เปรียบเสมือนเครื่องกรองธรรมชาติ ดักสารพิษต่าง ๆ และที่สำคัญในป่าทามมีตาน้ำ ช่วยให้มีน้ำไหลลงสู่แม่น้ำ เป็นพื้นที่เก็บน้ำตามธรรมชาติ (Water Catchment Area) ดังนั้น การอนุรักษ์ป่าทามริมน้ำ จึงเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพราะในป่าทามมีพืชอาหารมากมาย เช่น เห็ดทาม เห็ดตับเต่า เห็ดผึ้ง มันแซง หน่อไผ่กะซะ นอกจากนี้ยังมีสังคมพืชไม้ขนาดเล็ก ได้แก่ เสี้ยว ฝ้ายน้ำ หัวลิง เป็นต้น บางพื้นที่ในทุ่งทามมีพื้นที่ยกสูง เรียกบริเวณนี้ว่า "โนนทาม" มีสังคมพืชเป็นไม้ขนาดใหญ่ เช่น ยางนา ตะเคียนทอง พะยอม  เป็นต้น  ถัดมาบริเวณทุ่งทาม พบไม้ขนาดใหญ่ เช่น ยางเหียง ยางกราด พะยอม เหมือดโลด เป็นต้น  

     ป่าชุมชนอาลอ-โดนแบน จ.สุรินทร์ เป็นพื้นที่ป่าทามและป่าบก เนื้อที่ 670 ไร่ เป็นป่าที่ชาวบ้านร่วมกันฟื้นคืนจากการสัมปทานในอดีต และการบุกรุกเข้าไปถางที่ทำไร่ปอ ไร่อ้อย เผาป่าเพื่อล่าสัตว์ จนป่ารุ่นแรกแทบไม่เหลือ ผู้นำจึงใช้ความเป็นอยู่ฉันพี่น้องเจรจาขอพื้นที่บุกรุกคืนมาได้ จากนั้นตั้งกฎ กติกา บทลงโทษจริงจังต่อการตัดไม้และล่าสัตว์ ขุดคลองรอบป่าเพื่อประกาศแนวเขตป่า ป้องกันการบุกรุก และจัดทำป่าชุมชนที่เป็นพื้นที่บุ่งทามริมลำน้ำชีที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุด ในขณะที่ป่าทามถิ่นอื่นๆ เสื่อมโทรมจนแทบไม่เหลือแล้ว  

     การทำงานอนุรักษ์มาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 ปี สามารถเปลี่ยนแปลงป่าที่เคยโล่งเตียนให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ได้ จากผลพวงของการทำงานอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องจนเป็นที่ประจักษ์นี้ ทำให้ชุมชนบ้านอาลอ-โดนแบน ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 5 ประเภทชุมชน ในปี พ.ศ. 2546 และ ครั้งที่ 11 ประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน ในปี พ.ศ. 2552  

     ตลอดระยะเวลาสองทศวรรษที่ผ่านมา เครือข่ายรางวัลลูกโลกสีเขียวมีชุมชนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จเรื่องการบริการจัดการป่าชุมชน โดยการสั่งสมองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และมีนวัตกรรมทางสังคม ที่เป็นประโยชน์ สามารถสร้างผลกระทบ และขับเคลื่อนเชิงนโยบายระดับชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ เช่น เศรษฐกิจหมุนเวียน สังคมคาร์บอนต่ำ การรับมือกับภัยพิบัติ การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นต้น สถาบันฯ โดยคณะทำงานจัดการองค์ความรู้ของสถาบันลูกโลกสีเขียวจึงเห็นควรให้นำเรื่อง "ป่าชุมชน" มาถอดบทเรียน ทำป่าชุมชนให้ยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยการถอดองค์ความรู้ชุมชนต้องสะท้อนการบริหารจัดการป่าชุมชน ความเข้มแข็งของชุมชน ที่ทำให้ชุมชนอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน 

     การถอดบทเรียนครั้งนี้จึงเป็นการนำแนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) และกรอบการวิเคราะห์ความยั่งยืน หรือ DPSIR (Drivers-Pressures-States-Impact-Responses) รวมถึงแนวคิดการจัดการทรัพยากรป่าไม้บนฐานชุมชน (Community-based Forest Management: CBFM) มาเป็นกรอบในการถอดบทเรียน โดยมีวิธีการประเมินชุมชนแบบมีส่วนร่วม (Participatory Rural Appraisal: PRA) และการวิเคราะห์ศักยภาพชุมชนโดยใช้กรอบการดำรงชีพอย่างยั่งยืน (Sustainable Livelihood Approach : SLA) ด้วยทุน 5 ด้าน ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนทางสังคม ทุนทางกายภาพ ทุนเงินตรา และทุนทางธรรมชาติ โดยมีบทเรียนที่สำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน คือ 

  1. การส่งผ่านจากผู้นำและการหาแสวงหาแนวร่วม โดยยึดหลักความมีศีลธรรมและจริยธรรม ซึ่งผู้นำต้องเข้ามาร่วมทำงานกับสมาชิกและคณะกรรมการป่าชุมชน ให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส มีความรู้จักประมาณตนและมีความเสมอต้นเสมอปลาย สามารถทำงานร่วมกับชุมชนและภาคีเครือข่ายภายนอกได้   
  2. สมาชิกผู้ใช้ประโยชน์มีส่วนร่วมในการจัดการ โดยเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มมีสิทธิเข้าถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต การดูแลจัดการ การกำหนด ตัดสินใจ แก้ไข กฎกติกาต่างๆ และการกำกับติดตามสอดส่องดูแล ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสภาพของทรัพยากรและการติดตามผู้ใช้ประโยชน์เพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบและวิธีการเก็บหาอย่างยั่งยืน
  3. การเชื่อมโยงสู่ระบบที่ใหญ่กว่า กล่าวคือ ชุมชนสามารถเชื่อมโยงการทำงานกับเครือข่ายภายนอก ผ่านการจัดภาคีเครือข่ายที่มีหลายรูปแบบ เพื่อเอื้ออำนวยให้ชาวบ้านสามารถจัดการตนเองได้ โดยมีภาคีอื่นๆ ให้การสนับสนุน เช่น การจัดตั้งกฎกติกาและระเบียบต่างๆ การศึกษาวิจัย การให้รางวัล การเพิ่มมูลค่าและการแปรรูปผลผลิตจากป่า รวมถึงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชน เป็นต้น

1,343