06 กุมภาพันธ์ 2561
2,266

การจัดการป่าชุมชนในอาเซียน

ในงานพิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 16 ประจำปี 2557 มีเวทีการเสวนา “การจัดการป่าชุมชนในอาเซียน” นำประเด็นโดย ดร.เอนก นาคะบุตร ประธานคณะผู้เชี่ยวชาญคณะกรรมการติดตามผลและประเมิน กสทช. ด้านสิทธิเสรีภาพประชาชน (วุฒิสภา) และประธานหลักสูตรปริญญาตรีผู้ประกอบการทางสังคม สถาบันอาศรมศิลป์ พ่ออนันต์ ดวงแก้วเรือน ผู้นำชุมชนตำบลแม่ทา และคุณพงศา ชูแนม ประธานมูลนิธิธนาคารต้นไม้ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น การลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิในหลายประเทศ สิทธิของชุมชนเป็นลักษณะกลุ่มสิทธิ (Bundle of Rights) มิใช่สิทธิเดี่ยวอันใดอันหนึ่ง โดยสิทธิเหล่านี้ ได้แก่ สิทธิในการเข้าถึง (excess) สิทธิในการใช้ประโยชน์ (use) สิทธิในการบริหารจัดการ (management) สิทธิในการกันคนนอก (exclusion) สิทธิในการส่งทอด (alienation) และสิทธิในการขายคาร์บอน (carbon) การยกระดับสิทธิการจัดการทั้งของรัฐและชุมชน (เท่าที่มี) ไปสู่สิทธิการจัดการร่วมกันเพื่อให้เกิดการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Co-management right ใน common properties) 

และการเสวนา “วิถีสมดุลระหว่างการพัฒนา การผลิต และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” เพื่อการอยู่ร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอย่างยั่งยืน นำประเด็นโดย ดร.ส่งเกียรติ ทานสัมฤทธิ์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิพลังที่ยั่งยืน คุณสันติวิภา พานิชกุล เลขาธิการมูลนิธินภามิตร สถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย และคุณคณิต ธนูธรรมเจริญ นักวิชาการจากจังหวัดเชียงใหม่

ตัวอย่างวิถีสมดุลที่พบในชุมชนที่มีพื้นที่อาศัยและที่ทำกินในพื้นที่อนุรักษ์ ตัวอย่างเช่นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในภาคเหนือที่ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติ ขณะที่วิถีที่ไม่สมดุล มุ่งการพัฒนา แทบไม่มีส่วนในการถนอมรักษาทรัพยากรธรรมชาติ หรือแม้แต่เพิ่มพื้นที่สีเขียว เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตรเชิงเดี่ยว และพื้นที่การเกษตรเชิงอุตสาหกรรม เพื่อลดปัญหาผลกระทบและช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากขึ้น  นอกจากการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไข รักษา และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การนำมาตรการทางสังคม การสร้างแรงจูงใจ และความรับผิดชอบต่อสังคม แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม

ความสำเร็จหรือความพยายามของภาคการผลิตในที่ประเทศต่างๆ ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกับการสร้างพื้นที่สีเขียวในรูปแบบต่างๆ เป็นผลให้เกิดคุณค่าในมิติต่างๆ อาทิ คุณค่าทางสังคม คุณค่าทางจิตวิญญาณ สร้างความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เล็กๆ ในลักษณะถิ่นที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก ( Micro habitat ) การสร้างแรงจูงใจเพื่อให้เกิดการสร้างพื้นที่สีเขียวในภาคการผลิต อาทิ การกำหนดภาษี, รายได้เสริมจากการปลูกต้นไม้ตามหัวไร่ปลายนาในลักษณะ Trees on Farm 


2,266