การจัดการทรัพยากรชายฝั่งและทะเล : ชุมชนบ้านโคกเมือง จ.สงขลา
การจัดการทรัพยากรชายฝั่งและทะเล ผ่านการจัดการอย่างมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเป็นหัวใจสำคัญในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาชุมชน เปิดโอกาสให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมรับรู้ ร่วมวางแผน และร่วมปฏิบัติ รวมทั้งร่วมบริหารจัดการทรัพยากรของชุมชน สามารถลดความขัดแย้ง ดังนั้นการมีส่วนร่วมในการจัดการของชุมชน คือ การที่คนในชุมชนให้ความสนใจปัญหา มีความเป็นห่วงกังวลในปัญหาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและความไม่พอใจร่วมกัน นำไปสู่การร่วมกันคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหา และพัฒนาชุมชนให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการร่วมกัน โดยคนในชุมชนมีส่วนร่วมในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ต้น ร่วมคิด ตัดสินใจ ดำเนินการ แก้ไขปัญหา รับผลประโยชน์ ประเมินผล
ชุมชนบ้านโคกเมือง จ.สงขลา ได้รับ "รางวัลลูกโลกสีเขียว" ประเภทชุมชน ในปี พ.ศ. 2554 และประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน ในปี พ.ศ. 2560 เป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นในเรื่องศักยภาพการจัดการอย่างมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ที่มีต้นทุนในเรื่องทุนมนุษย์-ศักยภาพอย่างเข้มแข็ง โดยชุมชนได้ร่วมกันวางแผนดูแล และพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืน ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชนผ่าน 3องค์ประกอบ คือ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตของชุมชน ก่อให้เกิดการพัฒนา และความยั่งยืนแก่ชุมชน
คณะทำงานจัดการองค์ความรู้ของสถาบันลูกโลกสีเขียว จึงได้พิจารณาคัดเลือกชุมชนที่ได้รับรางวัลประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน จากการศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน โดยใช้แนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) และกรอบการวิเคราะห์ความยั่งยืน หรือ DPSIR (Drivers-Pressures-States-Impact-Responses) จึงเห็นว่าการจัดการทรัพยากรชายฝั่งและทะเลของชุมชนบ้านโคกเมือง จ.สงขลา เป็นต้นแบบในการเรียนรู้วิธีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมของคนในชุมชน จึงกำหนดให้เป็นพื้นที่ตัวอย่างในการศึกษา เพื่อนำองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องไปเผยแพร่ ผลักดันในเชิงนโยบายและนำไปปฏิบัติให้เกิดผลดีต่อประเทศต่อไป
การถอดบทเรียนครั้งนี้เป็นการนำแนวการประเมินชุมชนแบบมีส่วนร่วม (Participatory Rural Appraisal: PRA) โดยมีการกำหนดประเด็นการเก็บข้อมูลล่วงหน้าแบบชั่วคราว ชุมชนมีส่วนร่วมวิเคราะห์ ขยายให้เกิดประเด็นใหม่จากที่ไม่ได้กำหนดไว้ รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้อง ความครบถ้วนของข้อมูล ผ่านการสนทนากลุ่ม การสำรวจอย่างง่าย และการสัมภาษณ์เชิงลึก ซึ่งนำมาสู่การถอดบทเรียนเพื่อแก้ไขปัญหา ปรับปรุงการทำงาน พัฒนาและสร้างการเรียนรู้ ช่วยเพิ่มศักยภาพชุมชนในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
บทเรียนความสำเร็จในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งและทะเล ชุมชนบ้านโคกเมือง จ.สงขลา ประกอบด้วย
- การจัดการเขตอนุรักษ์โดยชุมชน ชุมชนสร้างป่าชายเล และทำฟาร์มทะเล ที่มีการกำหนดพื้นที่การใช้ประโยชน์ร่วมกัน กำหนดกฎระเบียบเกี่ยวกับเขตอนุรักษ์ จัดตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับการดูแลเขตอนุรักษ์ ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการดูแลจัดการ สร้างศักยภาพให้กับชุมชนในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เกิดดินงอก เพิ่มแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เกิดความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์สัตว์น้ำ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ระบบนิเวศ อีกทั้งยังสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างรายได้ให้กับชุมชน อีกทั้งยังก่อให้เกิดความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน
- การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน ชุมชนมีกระบวนการรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั้งน้ำท่วม พายุ หรือฝนตกหนักโดยการประเมินสถานการณ์ แบ่งเขต แบ่งบทบาทหน้าที่ และการให้ความช่วยเหลือ การฟื้นฟู โดยการพึ่งพาตัวเองของชุมชนเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วก่อนที่หน่วยงานภายนอกจะเข้าช่วยเหลือ
- ภาวะการนำ และการจัดการอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้นำมองประโยชน์ส่วนรวมของชุมชนเป็นสำคัญ ให้ความสำคัญกับคนในชุมชน สร้างการรับรู้ รับฟัง ทำงานร่วมกับคนในชุมชนผ่านการประชุมประจำเดือน ก่อนดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อีกทั้งยังสร้างการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชนจากการทำ "ปิ่นโตร้อยสายอาหารร้อยอย่าง" จากแต่ละบ้านเพื่อนำอาหารมาต้อนรับแขก
- การตั้งกลุ่มกองทุนต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน การจัดตั้งกองทุนต่าง ๆ ในชุมชน รวมถึงการยกระดับเป็นสถาบันการเงินบ้านโคกเมือง เป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย สำหรับการประกอบอาชีพให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อให้สมาชิกในชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ รวมถึงช่วยบรรเทาเหตุฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน และชุมชนยังมีการจัดตั้งกองทุนรวมขึ้นในนาม "กองทุนสวัสดิการบ้านโคกเมือง" โดยขอรับจัดสรรเงินสมทบจากกลุ่มกองทุนอื่น ๆ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำรองในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย สร้างความมั่นคงทางการเงินให้แก่ชุมชนในการตั้งรับปรับตัวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ