การใช้ภูมิปัญญาปกาเกอะญอเพื่อการอยู่อย่างเป็นสุขในพื้นที่ป่าต้นน้ำ

ชุมชนปกาเกอะญอส่วนใหญ่อยู่บนดอยสูงซึ่งมักเป็นป่าต้นน้ำ และถูกประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ของรัฐ จากพื้นที่ที่เคยหาอยู่หากินตามวัฒนธรรม กลายเป็นความไม่มั่นใจในสิทธิที่ทำกิน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชุมชน

บ้านห้วยหินลาดใน เป็นชุมชนปกาเกอะญอในเงื่อนไขดังกล่าว แต่ผู้นำสามารถทำให้คนในชุมชนอยู่อย่างพอเพียง มีความสุข ไม่หวาดระแวง ไม่ขัดแย้งกับภาครัฐ ทั้งยังเป็นต้นแบบที่ได้รับการยกย่อง ทั้งจากหน่วยงานรัฐ เอกชน ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ โดยการใช้ภูมิปัญญาปกาเกอะญอในการดำรงชีวิต ทั้งการสังเกตสัญญาณจากธรรมชาติเพื่อจัดการไร่หมุนเวียน ซึ่งมีทั้งสังเกตจากต้นไม้และพฤติกรรมของสัตว์เล็กๆ ที่ทำหน้าที่เหมือนผู้พยากรณ์ดินฟ้าอากาศ หรือ “นิเวศพยากรณ์” และการสร้าง “เศรษฐกิจชุมชนที่มั่งคั่ง-ยั่งยืน” จนสามารถสร้างรายได้ รายวัน-รายเดือน-รายปี จากการเลี้ยงชันโรง การเก็บหน่อไผ่หก และการเก็บชา โดยใช้ประโยชน์จากความสมบูรณ์ของป่าและการดูแลป่าเพื่อให้ย้อนกลับไปเป็นต้นทุนของเศรษฐกิจชุมชน