06 กุมภาพันธ์ 2561
3,805

การจัดสวนยางพาราแบบวนเกษตร

งานพิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 14 ประจำปี 2555  มีเวทีเสวนาในหัวข้อ “การจัดการสวนยางพาราแบบวนเกษตร เพื่อความยั่งยืนของชุมชนและสิ่งแวดล้อม” เนื่องจากสวนยางพารากลายเป็นสาเหตุของการบุกรุกและทำลายป่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ราคาน้ำยางที่ปรับตัวสูงขึ้นดึงดูดใจให้เกษตรกรหันมาทำสวนยาง เพิ่มและขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่า ทำให้ป่าลดอย่างรวดเร็ว ดินเสื่อมสภาพเพราะการชะล้างพังทลาย อินทรียวัตถุลดลง ความเป็นกรดเพิ่มมากขึ้น ความเชื่อเรื่องการปลูกพืชอื่นผสมผสานในสวนยางพาราจะทำให้ผลผลิตไม่ดี และต้นยางพาราจะไม่เจริญเติบโต ทำให้เกษตรกรได้ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ โดยวิทยากรที่มาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อเสนอแนวทางที่สวนยางจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีดังนี้

นายพงศา ชูแนม หัวหน้าหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ ได้สะท้อนประสบการณ์และแสดงความคิดเห็นว่า เกษตรเคมีเชิงเดี่ยวทำให้วิถีทางสังคม และระบบนิเวศขาดความสมดุล ที่ดินตกอยู่ในมือของผู้มีอำนาจซื้อ เกษตรกรรายย่อยมีจำนวนน้อยลง การจ้างแรงงานต่างด้าวมีมากขึ้น จากการศึกษาและจัดเก็บข้อมูล พบว่า ประสิทธิภาพของเรือนยอดชั้นเดียวสามารถกักเก็บน้ำเพียงร้อยละ 46 ของป่าต้นน้ำ และสูญเสียหน้าดินที่มีอินทรียวัตถุสูง

ผศ.ดร.ปราโมทย์ แก้ววงศ์ศรี อาจารย์คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครรินทร์และคณะทำงานวิจัยการจัดการความรู้เรื่อง การจัดการสวนยางพาราแบบวนเกษตร เพื่อความยั่งยืนของชุมชน และสิ่งแวดล้อมภาคใต้ กล่าวว่า คนไทยใช้ภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน รู้จักการปลูกพืชวนเกษตรในสวนยางพารามาช้านาน โดยปลูกพืชทุกอย่างที่ต้องการกิน ต้องการใช้ นอกจากสมุนไพรแล้วหากเรารู้จักกินอาหารให้เป็นยา ก็ช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันแข็งแรง อีกทั้งวนเกษตรยังช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน พืชผักที่เกิดขึ้นเองหรือที่ได้จากการปลูกในสวนยางพารา นอกจากขายยังสามารถแจกหรือแลกเปลี่ยน แบ่งปันสู่ผู้อื่น การปลูกพืชแบบเกื้อกูลเช่นนี้ ช่วยรักษาดิน น้ำ และป่าไม้ เป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

คุณคำนึง นวลมณี เกษตรกร อ.จะนะ จ.สงขลา ประสบผลสำเร็จจากประสบการณ์ปลูกผลไม้ร่วมกับยางพารา ด้วยแนวคิดสวนคูณสามพื้นที่ 5 ไร่ สามารถเพิ่มพื้นที่ให้เป็น 15 ไร่ ได้ด้วยการปลูกยางพารา 5 ไร่ ต้นสละ 5 ไร่ และผักเหรียง 5 ไร่ อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทั้งนี้หากนำพืชสมุนไพร ไม้ยืนต้น ที่ปลูกหรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มาคิดรวมอาจมากกว่า 15 ไร่ ทำให้มีรายได้ตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มปลูกยางพารา อีกทั้งยังพบว่าสวนยางพาราที่มีความหลากหลายของสังคมพืช และมีความหนาแน่น สามารถต้านทานแรงลม ซึ่งแตกต่างจากสวนที่มีต้นยางพาราอย่างเดียว

อาจารย์สุชาติ ณ สงขลา อดีตข้าราชการครู อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่หันมาทำสวนยางพาราแบบวนเกษตร บนพื้นที่ 15 ไร่ พื้นที่มีลักษณะเป็นที่ลุ่ม เคยประสบปัญหาเรื่องการชะล้างพังทลายหน้าดิน ในช่วงที่ยางพารามีอายุ 3 ปี ด้วยการนำไม้ทนร่ม เช่น ต้นชะพลู หมากผู้หมากเมีย พุทธรักษา เตยหอม เต่าร้าง ฯลฯ ปลูกขวางในพื้นที่น้ำไหล ดักตะกอนดิน อีกทั้งยังทดลองปลูกต้นตะเคียนทองหลุมเดียวกับกล้วย พบว่าต้นตะเคียนทองสามารถเจริญเติบโตได้ดี

การจัดการสวนยางพาราแบบวนเกษตร จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาเกษตรกรนำไปสู่ความยั่งยืนของชุมชน และสิ่งแวดล้อมต่อไป 


3,805