ชุมชนบ้านเขาวัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ชุมชนแห่งสวนสมรมที่ลดการใช้สารเคมีจนมีความมั่นคงทางด้านอาหาร
บ้านเขาวังเป็นชุมชนมุสลิมย้ายถิ่นฐานมาจากชุมชนประมงบ้านท่าชัก อ.เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2499 สามารถปรับตัวให้อยู่รอด ชาวบ้านเรียนรู้การกินอยู่แบบสวนสมรม ต่อมา เมื่อกระแสยางพาราเป็นที่นิยมก็ปรับสวนสมรมเป็นสวนยางพารา เมื่อประสบปัญหาราคายางตกต่ำ ชุมชนก็ปรับตัวอีกครั้ง โดยการฟื้นสวนสมรม การฟื้นสวนสมรมไม่เพียงเป็นทางออกเรื่องรายได้ แต่ยังช่วยฟื้นป่าต้นน้ำเพราะชุมชนได้รับผลกระทบจากภาวะอากาศเปลี่ยน ทั้งความแห้งแล้ง พายุฝนชุก ดินพังทลาย ภัยพิบัติ ทำให้ชาวบ้านตื่นตัวเตรียมพร้อม เพื่อตั้งรับจึงมีการปลูกป่าต้นน้ำและรณรงค์ให้ช่วยกันรักษาต้นไม้บริเวณริมสองฝั่งสายห้วยและริมคลอง ริมฝาย ปลายไร่หัวสวน และบริเวณเขตอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์น้ำริมสองฝั่งคลองเขาวัง เพื่อรักษาความชุ่มชื้น การออกกฎระเบียบการใช้ป่า และจัดทำฝายชะลอน้ำ 100 กว่าจุด การสร้างคนรุ่นใหม่มีระบบคิดในการ-หมุนเวียนคนใหม่ๆ เข้ามาแทนเพื่อเรียนรู้งาน ชุมชนบ้านเขาวัง จึงนับเป็นแบบอย่างของการบริหารจัดการป่าในพื้นที่สูงของภาคใต้ และมีความสามารถในการ-ปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตรให้อยู่รอด ท่ามกลางความ-เปลี่ยนแปลงของอากาศที่เกิดจากภาวะโลกร้อน
ความโดดเด่นของผลงานช่วงรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทชุมชน ปี 2558 – 2559
ชุมชนบ้านเขาวังเป็นกลุ่มบ้านในบ้านคีรีใหม่ หมู่ 12 ต.หินตก อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช เป็นชุมชนในหุบเขา ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำที่เกิดแหล่งน้ำสำคัญของลุ่มน้ำปากพนัง ก่อตั้งชุมชนเมื่อปี 2499 จากชาวมุสลิมกลุ่มแรกๆ ที่อพยพมาจากบ้านท่าชัก อ.เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช เดิมยึดอาชีพปลูกพืชหลากหลายแบบสวนสมรม
ประมาณปี 2530 ภายหลังมีการขยายพื้นที่การเกษตร ด้วยประชากรเพิ่มขึ้น มีการโค่นไม้ใหญ่ และช่วงที่ยางพารามีราคาสูงหลายครอบครัวปรับสวนสมรมมาปลูกยางพาราและมะนาว ทุเรียนหมอนทอง เน้นการใช้สารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตและใช้ยาฆ่าหญ้า ต่อมาประสบกับปัญหาน้ำแล้งในหน้าแล้ง คลองหลายสายแห้งขอด และมีน้ำไหลเข้าสู่บ่อปลาของโรงเรียนทำให้ปลาตาย แต่ถึงหน้าฝนปริมาณน้ำฝนไหลแรงและดินไม่สามารถกักเก็บน้ำเพราะต้นไม้ถูกตัดโค่นทำลายไปมาก ฝนตกหนักชะหน้าดิน เกิดดินถล่ม
จากวิกฤตที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทำให้ชุมชนหันมาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ในปี 2548 เกิดการรวมตัวกันเป็น “กลุ่มอนุรักษ์บ้านเขาวัง” ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นคนหนุ่มที่รับช่วงต่อจากคนรุ่นแรกๆ ทางกลุ่มเริ่มทำกิจกรรมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนในชุมชน ได้แก่ การส่งเสริมระบบสวนสมรมปลูกไม้หลากหลายชนิดแซมในสวนยางพารา โดยเฉพาะภายหลังปัญหาราคายางตกต่ำ เพราะยังมีรายได้จากไม้ผลและพืชพันธุ์อื่นๆ ในสวนสมรม
การคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ผืนป่า ได้แก่ การปลูกป่าต้นน้ำและรณรงค์ให้ช่วยกันรักษาต้นไม้บริเวณริมสองฝั่งสายห้วยและริมคลอง ริมฝาย ปลายไร่หัวสวน และบริเวณเขตอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์น้ำริมสองฝั่งคลองเขาวัง เพื่อรักษาความชุ่มชื้น การออกกฎระเบียบการใช้ป่า และจัดทำฝายชะลอน้ำและเก็บความชื้นมากกว่า 100 จุด สิ่งที่ได้ตามมา คือสามารถสร้างประปาภูเขาให้ชุมชนมีน้ำใช้อย่างพอเพียง
หลังจากมีบทเรียนจากเหตุการณ์ดินถล่มในปี 2555 ทำแผนแม่บทเพื่อรับมือภัยพิบัติ สร้างเครือข่ายเพื่อร่วมดูแลป่าต้นน้ำและเฝ้าระวังภัยพิบัติ และมีกระบวนการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ
การปรับเปลี่ยนหลังจากได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทชุมชน ปี 2558 – 2559
ชุมชนยังคงดูแลพื้นที่ป่าธรรมชาติ 473 ไร่ ป่าธรรมชาติริมห้วยริมคลองและหัวสวน ป่าชุมชนบ้านเขาวัง พื้นที่ 702 ไร่ 60 ตารางวา ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช โดยขึ้นทะเบียนป่าชุมชน เลขที่ ทส 1605.33/12920 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2554 และต่อทะเบียนในปี 2564 ป่าในโรงเรียนบ้านเขาวัง 10 ไร่ และพื้นที่สาธารณะ 21 ไร่ ปัจจุบันพบปลาแงะ ตะพาบน้ำ กบภูเขา ลิง เป็นต้น รวมถึงเพิ่มการดูแลพื้นที่ป่าริมห้วย พื้นที่ 4 ไร่
ปัจจุบัน ชุมชนบ้านเขาวังมีแกนนำรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 ในขณะที่แกนนำรุ่นแรกจะมาเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มฯ
ชุมชนได้ทำฝายไปทั้งหมดประมาณ 100 ฝาย เพื่อช่วยชะลอแรงน้ำตามริมสายห้วยต่างๆ ช่วยเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง สามารถจัดทำระบบประปาภูเขาใช้ในชุมชน รวมทั้งเป็นเส้นทางเข้าสวนของชาวบ้าน โดยเป็นฝายที่สามารถปล่อยน้ำออกได้จึงไม่มีตะกอนตกค้าง
กิจกรรมปลูกป่าริมห้วยชายคลอง จัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์น้ำ ส่งเสริมการตัดหญ้าแทนการใช้ยาฆ่าหญ้า ส่งเสริมการทำปุ๋ยชีวภาพ เพาะพันธุ์ไม้ท้องถิ่น
ชุมชนยังคงวิถีสวนสมรม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่อดีตมีรายได้จากทุเรียน มังคุด แต่ในปัจจุบันได้มีการปลูกกระวานเพิ่มทั้งในพื้นที่สวนสมรมและสวนยางพารา ทำให้มีรายได้จากเมล็ด หน่อ รวมถึงการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น สบู่ ยาหม่อง ยาดม เจลล้างมือ น้ำยาบ้วนปาก น้ำพริกกระวาน ไก่หยองกระวาน เป็นต้น และชุมชนจัดทำสวนพฤกษศาสตร์ในสวนสมรมร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ยังมีการเตรียมความพร้อมของชุมชนในการรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชุมชน โดยมีศูนย์ระวังภัยพิบัติ มีการจัดหาวิทยุเครื่องแดงจำนวน 10 เครื่อง จัดตั้งกลุ่มไลน์ภัยพิบัติเพื่อไว้เตือนภัย โดยก่อนมรสุมจะมีการจัดการเส้นทางอพยพ ถ้าเกิดดินพังก็จะช่วยเหลือซ่อมแซมกันในชุมชน
ชุมชนยังเห็นความสำคัญในการสร้างแกนนำรุ่นต่อไป และความร่วมมือของทั้งผู้หญิงและผู้ชายในชุมชน
เงินรางวัลลูกโลกสีเขียวได้มีการกระจายไปยังกลุ่มต่างๆ ในชุมชน เช่น มัสยิด กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเครื่องเงิน กลุ่มปุ๋ยหมัก เครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติ เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงเรื่องการลดใช้สารเคมีหลังจากได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวมีส่วนช่วยเศรษฐกิจของชุมชนให้ดีขึ้น
ชุมชนบ้านเขาวัง
หมู่ 12 ต.หินตก อ.ร่อนพิบูลย์
จ.นครศรีธรรมราช 80130
ประสานงาน : นายทวีผล บุญผล
(ผู้ใหญ่บ้านบ้านคีรีใหม่)
335 หมู่ 12 ต.หินตก อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช 80130
โทรศัพท์ : 08 1089 2000
ประชากร
135 ครัวเรือน จำนวน 535 คน
พื้นที่ดำเนินงาน
ชุมชนบ้านเขาวังมีพื้นที่ 7,380 ไร่ ในจำนวนนี้แบ่งการใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ทำกิน 6,174 ไร่ ป่าธรรมชาติ 473 ไร่ ป่าธรรมชาติริมห้วยริมคลองและหัวสวน ป่าชุมชนบ้านเขาวัง พื้นที่ 702 ไร่ 60 ตารางวา ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช ป่าในโรงเรียนบ้านเขาวัง 10 ไร่ และพื้นที่สาธารณะ 21 ไร่
ระยะเวลาในการทำงานอนุรักษ์
ปี 2548 - 2565
สรุปความก้าวหน้าหลังจากได้รับรางวัลในปี 2558 - 2559
ระบบนิเวศ
- ชุมชนบ้านเขาวังอยู่ในคาบสมุทรมาลายูเป็นระบบนิเวศต้นน้ำลำธาร มีการจัดการดิน น้ำ ป่าการรักษาและปลูกพืชชายน้ำ การทำฝายชะลอน้ำ การลดใช้สารเคมีทางการเกษตร การรักษาพืชสมุนไพร มีบทบาทโดยตรงต่อการช่วยลดภาวะโลกร้อนและการดูดซับก๊าซเรือนกระจก บรรเทาความเสี่ยงพิบัติภัยเนื่องจากฝนตกเป็นจำนวนมาก น้ำจะไหลลงลำธารไหลต่อไปยังถ้ำ จากถ้ำไหลลงสู่ลำธารอีกครั้ง (Head Water)
- ระบบนิเวศทั้งดิน น้ำ ป่า ยังสมบูรณ์ มีสัตว์ป่า เช่นเลียงผา ค้างคาวตัวเล็กที่มีส่วนในการผสมเกสรดอกไม้ และพบตะพาบน้ำ เต่า ในพื้นที่ริมน้ำ เป็นต้น
การบริหารและจัดการ
- การสร้างเศรษฐกิจของชุมชนให้ยั่งยืนจากสวนสมรมที่ลดการใช้สารเคมี และมีความหลากหลายทางพืชพันธุ์และมีความสมบูรณ์ขึ้น ก่อนรับรางวัลมีรายได้หลักมาจากพืชเศรษฐกิจ คือ ทุเรียน มังคุด แต่วันนี้มีรายได้จากกระวาน ลูกเนียง
- การแปรรูปผลผลิตจากกระวาน โดยกลุ่มสตรีและมีรายได้ตลอดปีจากสวนสมรม
- การสร้างฝายชะลอน้ำที่เหมาะสมกับพื้นที่ มีการทำที่ดักตะกอนทีละขั้นและมีที่เปิดปิดน้ำและเปิดให้ตะกอนไหลออกเมื่อมีน้ำมาก มีการเก็บน้ำใต้ดินหลายแห่ง มีการปรับตัวจากกระสอบทราย หินทิ้งเปลี่ยนเป็นอิฐคานปรับท่อจากขนาด 2 นิ้ว เป็น 20 นิ้ว เพื่อลดตะกอนหน้าฝายและประหยัดงบประมาณ
- ชุมชนมีการเว้นและปลูกเสริมพืชริมน้ำจนพื้นที่มีความสมบูรณ์ เป็นชุมชนต้นแบบที่อยู่กับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้
สังคมและชุมชน
- ชุมชนได้รับประโยชน์จากการปกป้องรักษาพื้นที่ป่าในด้านการใช้น้ำเพื่อการเกษตร การลดความเสี่ยงภัยพิบัติด้านน้ำ
- ชุมชนมีการสื่อสารประเด็นปัญหาต่างๆ ผ่านการพูดคุยในเวทีชาวบ้านและกิจกรรมทางศาสนา
- กลุ่มเยาวชนมีบทบาทสนับสนุนงานด้านต่างๆ อาทิ การลาดตระเวนโดยใช้มอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะ เป็นต้น
- ระบบชุมชนมีความเหนี่ยวแน่น กลมเกลียวผ่านคุณค่าทางศาสนา เคารพในผู้นำ และผู้นำทางศาสนา ส่งเสริมบทบาทร่วมระหว่างชาย-หญิง มีแนวคิดในทิศทางเดียวกัน มีโรงเรียนสอนศาสนาให้เยาวชนมีความรู้เกี่ยวกับป่า
- มีความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภายนอก เช่น สถาบันการศึกษาในท้องถิ่น เป็นต้น
- ดำรงบทบาทผู้นำ โดยยึดหลักตามความเชื่อและคำสอนตามหลักศาสนาอิสลาม
- มีการสืบทอดผ่านกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา วิถีของชุมชน และมีการกระจายความรู้ กระจายงานไปยังกลุ่มต่างๆ
- ในสถานการณ์โควิด 19 ชุมชนมีการตั้งรับปรับตัวได้ เนื่องจากมีแหล่งอาหารเป็นของตนเองที่มาจากสวนสมรม