515

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน : ชุมชนตำบลผักไหม จ.ศรีสะเกษ

          ในปี 2566 สถาบันฯ ได้รับความอนุเคราะห์จากคณะกรรมการภาค รางวัลลูกโลกสีเขียว ดำเนินการร่วมกับสถาบันฯ ในการถอดบทเรียนความสำเร็จของชุมชนผลงานรางวัลฯ ที่โดดเด่น โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนล่าง) ได้พิจารณาชุมชนตำบลผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ผลงานรางวัลฯประเภทชุมชน ครั้งที่ 15 ปี 2556 และประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน ครั้งที่ 22 ปี 2566 เป็นชุมชนต้นแบบด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

          ผลจากการจัดเวทีถอดบทเรียนชุมชนตำบลผักไหม พบว่ามีบทเรียนความสำเร็จที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนอื่น ดังนี้

          1. ความตระหนักถึงปัญหาการบุกรุกทำลายป่าจนอาจไม่เหลือถึงคนรุ่นหลัง สร้างจิตสำนึกและการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ โดยอาศัยการกำหนดคณะกรรมการป่าและกติกาเพื่อการอนุรักษ์ ป้องกัน ควบคุมและแบ่งปันการใช้ประโยชน์ ทำให้ชุมชนยังมีป่าทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหาร น้ำ และอากาศ ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตและผลผลิตของชุมชนอย่างยั่งยืน

          2. การปรับปรุงและการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และสารเคมีต่าง ๆ รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพดิน ช่วยฟื้นฟู อนุรักษ์และสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์

          3. การส่งเสริมอาชีพและการรวมกลุ่มอาชีพ สร้างการเรียนรู้ เพิ่มอำนาจและโอกาสทางอาชีพ ใหม่ ๆ เสริมความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจชุมชน

          4. ผู้นำและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นองค์กรสำคัญในการสนับสนุน ส่งเสริม สร้างการมี ส่วนร่วมของคนในการพัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

          5. สภาผู้นำชุมชน คือกลไกภาคประชาสังคมที่มีประสิทธิภาพในการสร้างการมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

          โดยเมื่อได้บทเรียนความสำเร็จดังกล่าวแล้ว คณะกรรมการภาคฯ ได้เชิญผู้แทนจากชุมชนตำบลโพธิ์ทอง (ป่าชุมชนโคกใหญ่ (คำปลากั้ง)) อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด ผลงานรางวัลฯ ประเภทชุมชน ครั้งที่ 14 ปี 2555 เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งชุมชนตำบลโพธิ์ทอง ได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ และจัดทำเป็นแผนพัฒนาชุมชน มุ่งเป้าที่กระบวนการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนท้องถิ่น


515