ไม้คะลำ การสืบสานภูมิปัญญาการอนุรักษ์ป่า ด้วยไม้คะลำของคนชายโขง
เมื่อปี พ.ศ.2558 ชุมชนบ้านนาหว้า อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานีที่อยู่ริมแม่น้ำโขงของจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวประเภทชุมชนจากการเดินทางเข้าไปพบปะพูดคุยกับชุมชน คณะกรรมการภาค “รางวัลลูกโลกสีเขียว” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-ตอนล่าง มองเห็นถึงภูมิปัญญาของชุมชนดั้งเดิม ที่ชุมชนได้ดำรงไว้และสืบทอดภูมิปัญญานี้สู่กลุ่มเยาวชนทั้งในระบบโรงเรียน และกลุ่มเยาวชนนอกระบบโรงเรียน เป็นที่น่าประทับใจมาก โดยเฉพาะเรื่องภูมิปัญญาไม้คะลำ

“ไม้คะลำ” หมายถึง ไม้ที่มีลักษณะบางอย่างที่ชุมชนจะไม่ตัดมาใช้ประโยชน์ แต่จะปล่อยไว้ในป่า ไม้คะลำที่ว่า ได้แก่ ไม้เครือเกี้ยว ไม้โกนหรือไม้โพรง ไม้ติดเทียน ไม้ตาหมูสี ไม้ริมห้วย ไม้ริมทางเดิน ไม้ที่ขึ้นอยู่บนจอมปลวกหรือโพน เป็นต้น ความเชื่อในไม้คะลำนี้ ทำให้ป่าชุมชนภูหินเหล็กไฟ ยังมีไม้ขนาดใหญ่เหลืออยู่ เพื่อเป็นแม่ไม้ โปรยเมล็ดสร้างต้นไม้รุ่นใหม่ขึ้นมา สร้างความชุ่มชื้นลดการพังทลายของดิน

คณะกรรมการภาค “รางวัลลูกโลกสีเขียว” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-ตอนล่าง จึงมีความสนใจที่จะรวบรวมองค์ความรู้เรื่องไม้คะลำของชุมชนบ้านนาหว้า และชุมชนใกล้เคียงเป็นหมวดหมู่ ภายใต้การศึกษาวิจัย “ไม้คะลำ: การสืบสานภูมิปัญญาการอนุรักษ์ป่าด้วยไม้คะลำ ของคนชายโขง” เพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และเผยแพร่แก่สาธารณะ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจในองค์ความรู้ที่สนับสนุนการอนุรักษ์ป่าให้แก่ภูมิปัญญา

กิจกรรมการดำเนินการ แบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่
หมวดที่ 1 กิจกรรมรวบรวมประวัติความเป็นมาของกลุ่มคนที่มีความเชื่อเรื่องไม้คะลำ
1.1. การค้นหาผู้รู้เรื่องไม้คะลำที่มีอยู่ในชุมชน
1.2. กิจกรรมรวบรวมองค์ความรู้เรื่องไม้คะลำจากชุมชน จำแนกเป็น
- ไม้คะลำตามลักษณะ
- ไม้คะลำตามตำแหน่งที่ขึ้นอยู่
- ไม้คะลำตามชื่อ
- อื่นๆ
1.3. กิจกรรมการวิเคราะห์องค์ความรู้เรื่องไม้คะลำ ร่วมกับชุมชน
หมวดที่ 2 กิจกรรมรวบรวมลักษณะไม้คะลำที่มีอยู่ในป่า
2.1. การสำรวจลักษณะของไม้คะลำที่มีอยู่ในป่าร่วมกับชุมชน
2.2. การสำรวจลักษณะการใช้ไม้เพื่อการก่อสร้างของชุมชน
2.3. การจัดเวทีสรุปบทเรียนที่ได้ร่วมกับชุมชน
หมวดที่ 3 กิจกรรมการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
3.1. การจัดพิมพ์หนังสือ ความรู้เรื่องไม้คะลำ
3.2. การจัดงานเพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องไม้คะลำสู่สาธารณะ
ผลที่คาดว่าจะได้รับคือองค์ความรู้เรื่องไม้คะลำของชุมชนที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว สร้างความมั่นใจในการอนุรักษ์ด้วยภูมิปัญญาของชุมชน และเผยแพร่ภูมิปัญญาดั้งเดิมทำให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้สู่สาธารณชน