กลุ่มอนุรักษ์และชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก จ ตราด
กลุ่มอนุรักษ์และชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก จ.ตราด
กลุ่มอนุรักษ์และชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก เริ่มต้นครั้งแรกจากชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก ในปี 2548 โดยการแนะนำของนายพิทยา หอมไกรลาศ และนายราชันย์ ภู่ทนิน นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในชุมชนและเกรงว่าทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนจะได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวกระแสหลักที่มีขยายตัวอย่างรวดเร็วในเกาะช้าง หากชุมชนไม่มีเกราะป้องกันตัว จึงสนับสนุนให้ตั้งชมรมท่องเที่ยวฯ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มอนุรักษ์และชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก) ไม่เน้นรายได้เป็นหลัก แต่เพื่อรักษาอาชีพประมงพื้นบ้าน และเป็นกลไกหนุนเสริมงานอนุรักษ์ สร้างอัตลักษณ์การท่องเที่ยวและ “แพคเก็จทัวร์” ที่เน้นขาย “ความเงียบ” ในบรรยากาศการพายเรือมาดชมธรรมชาติในคลอง
สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชนด้วยระบบหุ้นส่วนในชมรมท่องเที่ยวฯ ให้ทุกคนเป็นเจ้าของธุรกิจ และไม่ขายหุ้นให้คนนอก มีการปันรายได้คืนกลับเป็นสวัสดิการชุมชน เพื่อทำกิจกรรมอนุรักษ์และงานด้านวัฒนธรรม
โดยช่วงแรกเริ่มจากเก็บขยะในป่าชายเลนทุกเดือน รณรงค์ไม่ทิ้งขยะ ปลูกต้นไม้ในป่าเสื่อมโทรม กำหนดแนวป่าชัดเจนป้องกันการบุกรุกและกำหนดแนวปลูกป่าเพื่อเป็นกันชน ป้องกันการบุกรุกทำนากุ้ง มีการประชุมหารือเรื่องงานอนุรักษ์ร่วมกับอีก 4 หมู่บ้าน คือบ้านบางเบ้า บ้านสลักเพชร บ้านสลักเพชรเหนือ และบ้านเจ๊กแบ้ เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังป่าชายเลนและป่าน้ำตกคลอง รวมทั้งทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ การบวชป่า การปลูกป่าต้นน้ำ
การปรับเปลี่ยนหลังจากที่ชุมชนได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวในปี 2553 คือมีการดูแลป่าชายเลนเพิ่มจากเดิมเป็น 675 ไร่ และบริหารจัดการเป็นแหล่งอาหารและแหล่งท่องเที่ยว มีนวัตกรรมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยการปิดอ่าวช่วงเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายนของทุกปี เพื่อให้สัตว์น้ำที่เติบโตออกจากอ่าวไปสู่ทะเล และเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นช่วงที่ปริมาณน้ำมีความเค็มสูง สัตว์น้ำก็จะเข้ามาวางไข่ในอ่าว และยังรักษาหญ้าทะเลบริเวณหน้าอ่าว เพื่อให้เป็นแหล่งวางไข่ของสัตว์น้ำวัยอ่อน มีข้อตกลงของชุมชนในการห้ามใช้เครื่องมือทำประมงบางประเภทที่มีผลกระทบต่อสัตว์น้ำในช่วงวางไข่ แต่อนุญาตให้ทำประมงขนาดเล็กในบริเวณอ่าวได้ ชาวบ้านสามารถตกปลาและใช้แหลนในการหาสัตว์น้ำได้ แต่ห้ามใช่ลอบกุ้งและอวนปู เพื่อให้ข้อตกลงนี้มีการรับรู้อย่างกว้าขวาง กลุ่มอนุรักษ์ฯ มีการประชาสัมพันธ์เรื่องการปิดอ่าวไปในหมู่บ้านต่างๆ ผ่านการประชาคมของอำเภอเกาะช้าง
และแก้ปัญหาผู้ประกอบการนากุ้งปล่อยน้ำเสีย โดยทำ MOU ร่วมกับผู้ประกอบการนากุ้งให้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และเข้ามาช่วยพัฒนาชุมชนทำให้สองฝ่ายหันหน้ามาทำงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน (Adaptive Collaborative Management) และยังสร้างคนรุ่นใหม่ให้สืบทอดงาน ให้กลับมาทำงานที่บ้านเกิด
จึงนับเป็นแบบอย่างการสร้างธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprises-SE) โดยใช้หลัก 5-S คือ (1) สร้างทุนทางสังคม-Social Capital (2) เติมต้นทุนส่วนกลาง-Social Central (3) สร้างกองทุนเพื่อสวัสดิการ-Social Welfare (4) สร้างธุรกิจเพื่อสังคม-Social Enterprises (5) และทำธุรกิจด้วยหลัก SMART