เศรษฐกิจสีเขียวและภูมิปัญญาชนพื้นเมืองในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ : ชุมชนบ้านแม่กองคา จ.แม่ฮ่องสอน
การทำการเกษตรเป็นระบบการผลิตหลักที่สร้างประโยชน์ทางตรงให้กับมนุษย์โดยการผลิตอาหาร เส้นใย ไม้ ยารักษาโรค เป็นต้น ด้วยภูมิศาสตร์ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ทำให้พร้อมและมีศักยภาพของการเป็นครัวโลก แต่ปัจจุบันจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาคเกษตร ซึ่งต้องพึ่งพาธรรมชาติในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ขณะที่ระบบการเกษตรเป็นสาเหตุต่อความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นการทำลายป่าเพื่อเพาะปลูก การใช้สารเคมีจำนวนมหาศาลในแปลงเกษตร เกิดมลภาวะทั้งในน้ำ ดิน และอากาศ นำมาซึ่งการสูญเสียทั้งความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงของสิ่งแวดล้อม ปัญหาที่เกิดขึ้นมีความพยายามแสวงหาแนวทางและกระบวนการการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว
คณะทำงานจัดการองค์ความรู้ของสถาบันลูกโลกสีเขียว ได้พิจารณาคัดเลือกชุมชนที่ได้รางวัลฯ ประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน โดยใช้กรอบเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) และกรอบการวิเคราะห์ความยั่งยืน หรือ DPSIR (Drivers-Pressures-States-Impact-Responses) เพื่อวิเคราะห์และประเมินผลความสำเร็จด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่เป็นต้นแบบ ซึ่งได้ชุมชนบ้านแม่กองคา (รางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทชุมชน ครั้งที่ 14 ปี 2555 รางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน ครั้งที่ 19 ปี 2562) ที่ดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่สัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมชนพื้นเมือง สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดหลักใน 3 เรื่อง ได้แก่ เศรษฐกิจสีเขียว วัฒนธรรมและภูมิปัญญาการดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ
การถอดบทเรียนชุมชนบ้านแม่กองคา นำแนวทางการประเมินชุมชนแบบมีส่วนร่วมมาใช้เพื่อการทำงาน และลงมือดำเนินการร่วมกัน ประกอบด้วยวิธีการศึกษาที่หลากหลาย ได้แก่ การสนทนากลุ่ม การสำรวจพื้นที่อย่างง่าย และการสัมภาษณ์เชิงลึก โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประกอบด้วยกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้นำ ผู้รู้ ครูภูมิปัญญา และชาวบ้านชุมชนบ้านแม่กองคาทั้งหญิงชาย รวมถึงหน่วยงานราชการและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติสาละวิน เทศบาลตำบลแม่ยวม
ชุมชนบ้านแม่กองคา ต.ขุนยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่บนเขาสูงเขตอุทยานแห่งชาติสาละวิน ประชากรเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอที่รักษาและดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ทำไร่หมุนเวียนเพื่อการยังชีพ ไร่หมุนเวียนเป็นระบบผสมผสานระหว่างเกษตรและป่าไม้ในลักษณะวนเกษตร เป็นรูปแบบการเพาะปลูกในพื้นที่หนึ่งช่วงเวลาสั้น ๆ แล้วปล่อย หรือพักพื้นที่ไว้ระยะยาว แล้วจึงกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง ซึ่งที่บ้านแม่กองคาจะหมุนกลับมาทุก 5-7 ปี ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และเงื่อนไขความจำเป็นตามที่เห็นเหมาะสม ในไร่หมุนเวียนเป็นแหล่งที่มาของผลผลิต มีความหลากหลายของทั้งพืชอาหารและชนิดพันธุ์ แปลงหนึ่ง ๆ ปลูกข้าวที่เป็นอาหารหลัก พืชผัก สมุนไพร และพริกที่มีชื่อเสียงเป็นรายได้ของคนในชุมชน การจัดการไร่หมุนเวียนแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและความกดดันทางธรรมชาติ รวมถึงเพิ่มศักยภาพบริการของระบบนิเวศสำหรับการเกษตร ได้แก่ การหมุนเวียนแร่ธาตุในดิน การควบคุม ศัตรูพืช การผสมเกสร หรือการเป็นแหล่งสะสมคาร์บอน การทำไร่หมุนเวียนจึงเป็นเกษตรกรรมยั่งยืน และเป็นทางเลือกในการทำเกษตรที่สร้างความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อม
บทเรียน
- เศรษฐกิจสีเขียวของชุมชนปกาเกอะญอบ้านแม่กองคามีธรรมชาติและระบบนิเวศเป็นศูนย์กลางกิจกรรม ทั้งการผลิตและการบริโภค โดยระบบการผลิตในไร่หมุนเวียนไม่ทำลาย สร้างความเสียหายและเสื่อมโทรมแก่ระบบนิเวศ รูปแบบการเพาะปลูกระยะสั้นและปล่อยพักฟื้นระยะยาวเหมาะสมต่อสภาพที่มีความกดดันทางธรรมชาติ (อยู่บนพื้นที่สูง มีความลาดชัน ไม่มีแหล่งน้ำและชลประทาน) การตัด ถางและเผาไร่ เพิ่มการหมุนเวียนแร่ธาตุในดิน ช่วยลดและกำจัดวัชพืชในแปลงเพาะปลูก เน้นการปลูกพืชพรรณท้องถิ่นซึ่งทนต่อโรคและแมลง มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์สร้างความมั่นคงทางอาหาร
- ระบบไร่หมุนเวียนรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของระบบเกษตรในหลายลักษณะ ที่สำคัญ ได้แก่ ความหลากหลายของพืชพรรณในไร่ ที่มีทั้งพืชอาหาร สมุนไพร และไม้ดอกไล่แมลง การจัดการไร่หมุนเวียนยังสร้างคุณค่าและประสิทธิภาพบริการนิเวศ การเผาไร่ช่วยเพิ่มการหมุนเวียนแร่ธาตุ รูปแบบการเพาะปลูกระยะสั้นและทิ้งไร่ระยะยาว ช่วยสมดุลการปลดปล่อยและการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ สร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน นับเป็นภูมิปัญญาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติระบบเกษตรที่มีความสอดคล้องกับหลักวิชาการทางนิเวศวิทยา
- ความคิด ความเชื่อ และวิถีวัฒนธรรมของปกาเกอะญอเอื้อต่อการอนุรักษ์ คุ้มครองพันธุ์พืช สัตว์ป่า และระบบนิเวศ เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์และความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถนำมาประยุกต์เพื่อการพัฒนาระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมีความเป็นธรรมต่อสังคมและธรรมชาติ เช่น การไม่ใช้สารเคมี ยาปราบศัตรูพืชและแมลงที่เป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม แต่ใช้แนวทางธรรมชาติ (Nature-based Solution) แก้ไขปัญหา สร้างให้เกิดความสุขสมบูรณ์ต่อระบบนิเวศ ที่สำคัญ คือ ความเชื่อของชุมชนบ้านแม่กองคาแสดงถึงความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ที่สมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ พิธีกรรมต่าง ๆ ในการทำไร่และชีวิตประจำวัน มีความหมาย มีความเคารพต่อธรรมชาติ ส่งผลต่อการปฏิบัติที่เหมาะสม