ท่องโลกดึกดำบรรพ์ เพลินชมนกชมไม้ที่เขาเอราวัณ
ท่องโลกดึกดำบรรพ์ เพลินชมนกชมไม้ที่เขาเอราวัณ
ชุมชนช่องสาริกา เป็นชุมชนย้ายถิ่นมาจากแถบจังหวัดอยุธยา สระบุรี สิงห์บุรี และใกล้เคียง เข้ามาจับจองที่ดินทำการเกษตร และตั้งถิ่นฐานบริเวณที่อยู่ปัจจุบัน พื้นที่เป็นที่ราบระหว่างภูเขา ด้านที่ติดภูเขาเป็นป่าอุดมสมบูรณ์มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่จำนวนมาก ต่อมาสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามได้จัดสรรที่ดินให้กับสามล้อ มีสำนักงานนิคมสร้างตนเอง (กรมประชาสงเคราะห์เก่า) เป็นผู้ดูแล และมีการแต่งตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านขึ้น ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนการปกครองเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลช่องสาริกา ตำบลช่องสาลิกา ในอ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี มีหมู่บ้านจำนวน 13 หมู่บ้าน ส่วนชื่อ “ช่องสาริกา” คุณตาเงิน สุหิรัญ เป็นผู้ตั้งขึ้นมา เนื่องจากมีนกสาริกาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากระหว่างทางเดินที่เชื่อมกันระหว่างเขาช่องสาริกาและเขาเอราวัณ

ย้อนกลับไปก่อนปี 2553 โรงงานระเบิดหินมาขอสัมปทานเขาเอราวัณ ชาวบ้านเห็นว่าจะเกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม การดำรงชีวิต และสุขภาพของคนในพื้นที่ จึงรวมตัวกันในนามของ “ชมรมรักษ์เขาเอราวัณ” เพื่อคัดค้านการอนุญาตการสัมปทานนี้ ซึ่งผลการพิจารณามีมติอนุญาตก่อสร้างในพื้นที่ดังกล่าวได้เพราะพื้นที่ไม่มีความสำคัญในด้านการอนุรักษ์
ชาวบ้านไม่ยอมแพ้ออกสำรวจและเก็บข้อมูลเขาเอราวัณอย่างละเอียด มีการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานเพื่อขอความรู้ เช่น กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ศึกษาเรื่องพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์, กรมทรัพยากรธรณี ศึกษาเรื่องซากดึกดำบรรพ์, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ศึกษาเรื่องถ้ำ,สำนักโบราณคดีที่ 4 กรมศิลปากร ศึกษาเรื่องหลักฐานโบราณคดี
ผลการสำรวจทำให้พบว่าพื้นที่มีคุณค่าทางธรรมชาติวิทยาและโบราณคดี มีพืชและสัตว์เฉพาะถิ่นหายาก เช่น นกจู๋เต้น ซากดึกดำบรรพ์ของสิ่งมีชีวิตในทะเล รวมถึงโบราณวัตถุยุควัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก ทางชมรมฯ ยื่นหนังสือคัดค้านการสัมปทานพร้อมแนบข้อมูลและหลักฐานดังกล่าว จนหน่วยงานภาครัฐทั้งระดับภูมิภาคและส่วนกลางต้องรับฟัง และระงับการตั้งโรงงานและการทำสัมปทานบนภูเขาในที่สุด โดยชาวบ้านยังได้ยื่นขอให้ประกาศเขาเอราวัณเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จนในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 เขาเอราวัณได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาเอราวัณ
ชัยชนะของชาวบ้านครั้งนี้ได้นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ ได้แก่ แหล่งเรียนรู้เรื่องซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นซากสิ่งมีชีวิตในทะเล ย้อนกลับไปถึงยุคเพอร์เมียน เมื่อประมาณ 230-28 ล้านปีมาแล้ว โดยพบเป็นหอยแอมโมไนต์ตระกูลปลาหมึก ที่มีอายุยืนนานกระทั่งเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่พร้อมกับสิ่งมีชีวิตอีกหลายชนิด รวมถึงสัตว์จำพวกไดโนเสาร์ นอกจากนี้ยังพบหอยนอติลุส (หอยงวงช้าง) คชสาร หอยกาบเดี่ยว สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวพวกโปรโตซัว และพลับพลึงทะเล ซึ่งการได้พบเห็นซากฟอสซิลเหล่านี้เชื่อว่าจะทำให้ตื่นเต้น เร้าจินตนาการถึงภาพสมัยที่ไดโนเสาร์เดินกันขวักไขว่แถวๆ นี้

ผ่านยุคดึกดำบรรพ์มาถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ พื้นที่เขาเอราวัณยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีของกลุ่มวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำลพบุรี - ป่าสัก ดังที่สันนิษฐานจากภาชนะและเศษภาชนะดินเผาฐานสูง หรือภาชนะทรงพาน มีสัน ซึ่งคนโบราณในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายนิยมฝังไปในหลุมศพ
เปลี่ยนมาเที่ยวท่องธรรมชาติ ต้องพุ่งไปที่ถ้ำเทวาพิทักษ์ ซึ่งภายในโถงถ้ำ พบหินงอก หินย้อย ม่านหินย้อย หินปูนฉาบ หรือหินน้ำไหล และเสาหินที่งดงามมาก สามารถเข้าชมถ้ำได้ทั้งปี ยิ่งในฤดูฝน ภายในถ้ำจะมีความสวยงามเป็นพิเศษ จากตะกอนถ้ำยามต้องแสงไฟ เกิดเป็นประกายระยิบระยับ
หากสนใจเรียนรู้เรื่องพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ที่นี่มีพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นหายาก เช่น โมกราชินี โมกเหลือง และพรรณไม้เด่น อย่างจันทน์ผา โดยจันทน์ผาได้รับการนำมาเพาะและขยายพันธุ์ จัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกต้นจันทน์ผา จำหน่ายจันทน์ผาสายพันธุ์ต่างๆ เช่น จันผา จันแดง จันแส้ม้า ใครเป็นคนรักจันทน์ผาพลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง
ส่วนคนรักนกยิ่งต้องมาเฝ้ารอชมนกจู๋เต้น สัตว์ป่าเฉพาะถิ่นที่พบได้ยากในที่อื่น แต่พบเห็นเฉพาะบริเวณที่มีเขาหินปูนเท่านั้น เรียกว่า “นกจู๋เต้นเขาหินปูน” แล้วมา “ว้าวๆ” กันต่อกับฝูงนกนางแอ่นฝูงใหญ่ที่บินข้ามเขาออกหากินตอนเช้าก่อนกลับเข้าถ้ำในช่วงเย็น
นอกจากจะได้เพลิดเพลิน สนุกสนานกับการเรียนรู้ในแหล่งศึกษาต่างๆ แล้ว ที่ขาดเสียไม่ได้เลยคือความรู้สึกขอบคุณชาวบ้านช่องสาริกาที่ลุกขึ้นมาต่อสู้รักษาและปกป้องรักษาเขาเอราวัณนี้ไว้
ผู้สนใจท่องเที่ยวเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาเอราวัณและชุมชนช่องสาลิกา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
คุณสมบัติ ท้าวสาบุตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ต.ช่องสาลิกา อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี โทร 089 538 5957
ชมรมรักษ์เขาเอราวัณ ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทชุมชน ครั้งที่ 12 ปี 2553 และอยู่ระหว่างการพิจารณารางวัล “สิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน” ครั้งที่ 18