5,817

การประเมินคุณภาพภูมิทัศน์

ความหมายอย่างง่ายๆ ของ “ภูมิทัศน์” คือพื้นที่ที่มีความหลากหลายในทางภูมิศาสตร์ มีทั้งที่เป็นธรรมชาติ เช่น ป่า ภูเขา ทุ่งหญ้า แม่น้ำ ห้วยหนอง จนถึงสภาพแวดล้อมที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ซึ่งเข้ามาใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเพาะปลูก ทำนาทำสวน ตั้งบ้านเรือน นอกจากนี้ภูมิทัศน์ยังแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต ซึ่งครอบคลุมทั้งมนุษย์ สัตว์ พืชพรรณ หรือระบบนิเวศ กับพื้นที่ ทำให้เกิดแบบแผนและรูปแบบการใช้ที่ดิน เป็นรากฐานหรือวิถีชีวิตในที่นั้น โดยการถ่ายทอด สืบต่อ และพัฒนาต่อเนื่องจะกลายเป็นส่วนของมรดกวัฒนธรรม

ตัวอย่างเช่น วิถีชีวิตเดิมของคนไทยคล้าย ๆ กับที่อื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะนิยมสร้างบ้านในหุบเขาตามบริเวณเชิงเขาที่ลาดชันเล็กน้อย ทำนาในที่ราบ ส่วนที่สูงเล็กน้อยน้ำไม่ท่วมชอบปลูกพืชไร่ ทำสวน ชีวิตคนไทยก็ชอบเพาะปลูก ทำไร่ไถนา และในความเป็นจริงชาวไร่ชาวนามิได้จัดการที่ดินเพื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง หากแต่ทำหลาย ๆ อย่าง รอบ ๆ บ้าน ปลูกผักสวนครัว ไม้ผล หรือปลูกแทรกไม้ใช้สอย บนภูเขาที่สูงเกิน   1,200 – 1,300 เมตร พืชผลข้างล่างมักไม่ติดดอกออกผล จึงมักเก็บไว้เป็นป่า

ปัจจุบันผลจากการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตเพื่อยังชีพสู่การพาณิชย์และอุตสาหกรรมการเกษตร ทำให้เกิดการขยายพื้นที่เกษตรกรรมและการขยายตัวของเมือง รวมถึงการทำลายและใช้ทรัพยากรธรรมชาติหมดไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ธรรมชาติ ทำลายความสมดุล ความสัมพันธ์ และกระบวนการการใช้ประโยชน์ในระบบนิเวศ

สถาบันลูกโลกสีเขียวที่มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนงานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมกับนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ เอ็นจีโอ และเครือข่ายชุมชนอนุรักษ์ ทั่วประเทศ ผลักดันแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศธรรมชาติ คืนพื้นที่ป่า รักษาให้ดินและน้ำอุดมสมบูรณ์ ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า “การประเมินคุณภาพภูมิทัศน์ (Landscape Quality Assessment: LQA)  คุณศรีสุรางค์ มาศศิริกุล ผู้อำนวยการสถาบันลูกโลกสีเขียว กล่าว่า เครื่องมือนี้จะช่วยให้ชุมชนเข้าใจภูมิทัศน์ที่อาศัยอยู่ เห็นถึงประโยชน์ องค์ประกอบและบทบาทบาทหน้าที่ของภูมิทัศน์ นำมาสู่การจัดการ ฟื้นฟู หรือพัฒนาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม โดยใช้เครื่องมือเรียนรู้ระบบธรรมชาติ และวิถีวัฒนธรรม “นิเวศวิทยาภูมิทัศน์” (Landscape Ecology) ที่ ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ กรรมการบริหารสถาบันฯ เป็นหลักในการพัฒนาและจัดทำขึ้น

รู้จักภูมิทัศน์

ก่อนจะเริ่มกระบวนการประเมินคุณภาพภูมิทัศน์ ต้องทำความเข้าใจใน 4 เรื่อง คือ องค์ประกอบ โครงสร้าง หน้าที่ และการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในแต่ละเรื่องมีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้  

1.องค์ประกอบ

ลักษณะที่ประกอบขึ้นเป็นภูมิทัศน์เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศพื้น หย่อม และทางเชื่อม โดยระบบนิเวศพื้นคือระบบนิเวศที่มีมากที่สุดในพื้นที่นั้น ซึ่งอยู่ร่วมกับระบบนิเวศอื่นๆ ที่มีพื้นที่รองลงมา เช่น ทุ่งนา สวนผลไม้ ลำคลอง

ส่วนหย่อมนั้นแตกต่างจากระบบนิเวศพื้น เกิดขึ้นมาจากการรบกวน ภัยธรรมชาติ เป็นป่าดั้งเดิมที่ลดลง เกิดจากป่าที่ฟื้นตัว บริเวณธรรมชาติ และเป็นหย่อมที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยหย่อมที่มีสำคัญจะเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต เช่น มีหย่อมต้นไม้ตามจอมปลวก มีนกกรงหัวจุกอาศัยอยู่กับต้นไม้

สุดท้ายคือทางเชื่อม เป็นเส้นทางที่สิ่งมีชีวิตใช้ในการเคลื่อนย้ายหรืออพยพ จากอีกหย่อมหนึ่งไปยังอีกหย่อมหนึ่ง เกิดขึ้นในหลายลักษณะ เช่น แนวต้นไม้เดิมที่เหลืออยู่ไม่ได้ถูกตัดฟันแผ้วถางตามหัวไร่ปลายนา หากมีหย่อมมากจะเป็นทางเชื่อมให้สัตว์เคลื่อนบ้าย หรือเป็นที่หยุดพักของสัตว์ได้ มีนกบางชนิดอาศัยและแพร่พันธุ์ภายในหย่อมเหล่านี้    

2. โครงสร้าง

อัตราส่วนขององค์ประกอบต่าง ๆ ของแต่ละพื้นที่ หรือรูปแบบของภูมิทัศน์ เช่น เมื่อในอดีตพื้นที่เคยมีผืนป่าขนาดใหญ่ แต่เมื่อเวลาจากผืนป่าที่มีขนาดใหญ่ เกิดการแบ่งแยกออกเป็นหย่อมๆ ของต้นไม้ จนหย่อมเริ่มมีการคงที่ แล้วมนุษย์เข้ามาทำประโยชน์ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของภูมิทัศน์ พื้นที่ทางธรรมชาติลดลง แต่พื้นที่เกษตรกรรมมากขึ้น ทำให้รูปแบบของภูมิทัศน์เปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบนิเวศพื้นทุ่งนา สวนผลไม้ เป็นต้น

3. บทบาทหน้าที่

บทบาทหน้าที่ของภูมิทัศน์เป็นเรื่องที่มีความเฉพาะของแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศต่างๆ ในพื้นที่ เช่นบทบาทหน้าที่ของทางเชื่อมแต่ละหย่อม มีหน้าที่ 2 อย่างด้วยกันคือ 1. เป็นเส้นทางที่พืชและสัตว์ใช้ในการเคลื่อนที่ ไม่ว่าจะเป็นทางเชื่อมริมฝั่งน้ำ หรือ รั้วต้นไม้ตามหัวไร่ปลายนา ช่วยในการกระจายพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์เพื่อให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น จากการเคลื่อนย้ายผ่านสิ่งมีชีวิตหรือกระแสลม 2. ทางเชื่อมที่ช่วยในการดัก กรอง เช่น รากของต้นไม้ที่ช่วยในการดักธาตุอาหารจากแหล่งน้ำใต้ดิน แล้วคายน้ำสู่บรรยากาศ แนวของต้นไม้ที่ช่วยในการชะลอน้ำไหลบ่า ควันไฟ ดักฝุ่นละออง ลดความเร็วของกระแสลม หรือแม้กระทั้งการดักสารเคมีจากการทำการเกษตรไม่ให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำ

4. การเปลี่ยนแปลง

ภูมิทัศน์มักเกิดการเปลี่ยนแปลงจากสองสาเหตุหลักๆด้วยกันคือ สาเหตุจากธรรมชาติทั้งมาจากตัวของระบบนิเวศ และภัยพิบัติ อีกสาเหตุจากมนุษย์ ที่เข้าไปทำให้ภูมิทัศน์เปลี่ยนแปลงไป จากการทำการเกษตรหรือโครงการพัฒนาต่าง ๆ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจเป็นทั้งบวกและลบ ผลทางบวกเช่น ในป่าเสม็ด หากเกิดไฟป่าขึ้น จะยิ่งเพิ่มอัตราการงอก และเจริญเติบโตที่สูง ต้นไม้ขนาดใหญ่ในป่าหักโค่นตามธรรมชาติ ช่วยให้เกิดช่องว่างภายในป่า ทำให้แสงแดดสามารถส่องแสงถึงพื้นดินได้ ทำให้พืชพรรณขนาดเล็กที่ไม่เคยได้รับแสงจึงได้รับแสง และสามารถสังเคราะห์แสงจนเติบโตขึ้นใหม่ได้ ส่วนผลกระทบทางลบจากการกระทำของมนุษย์  เช่น การตัดถนนผ่านพื้นป่า จากโครงการพัฒนาต่าง ๆ การทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ใช้สารเคมีในการทำเกษตรที่มีความสัมพันธ์กับการใช้ประโยชน์ของที่ดิน จนนำไปสู่ความเสื่อมโทรมทางธรรมชาติ

 

การประเมินภูมิทัศน์

วัตถุประสงค์สำคัญของการประเมินภูมิทัศน์คือการทำความเข้าใจโครงสร้าง และหน้าที่ของภูมิทัศน์ เพื่อให้ชุมชนสามารถวางแผน และดำเนินงานฟื้นฟู ปรับปรุงระบบนิเวศธรรมชาติด้วยพลังของชุมชนเอง มีขั้นตอนหลักๆ ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 วินิจฉัยระดับการประเมินคุณภาพภูมิทัศน์ เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการนำผลการประเมินไปใช้ ถ้าต้องการทำความเข้าใจ รู้ถึงประโยชน์และคุณค่าของภูมิทัศน์ เพื่อใช้ในการวางแผนอนุรักษ์หรือโครงการพัฒนาพื้นที่ ทำได้โดยให้คะแนนแบบง่าย

ขั้นตอนที่ 2 เลือกภูมิทัศน์ เป็นการตัดสินใจเลือกภูมิทัศน์ เลือกขนาด แนวเขต รูปร่างของภูมิทัศน์ที่จะประเมิน สามารถเลือกในหลายลักษณะ เช่น ทางนิเวศวิทยา ทางภูมิศาสตร์ หรือองค์ประกอบของภูมิทัศน์ที่สำคัญ

ขั้นตอนที่ 3 เลือกคุณค่า และตัวชี้วัด เป็นการพิจารณาถึงคุณค่าหรือประโยชน์ของภูมิทัศน์ เช่น เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์หายาก เป็นแหล่งต้นน้ำ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ช่วยป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติ กำหนดเป็นตัวชี้วัดที่จะใช้ในการประเมิน

ขั้นตอนที่ 4 ประเมินข้อมูล เป็นการลงพื้นที่เพื่อประเมินตัวชี้วัดในพื้นที่จริง วิเคราะห์และทำสรุปเป็นผลการประเมินคุณภาพภูมิทัศน์

ประโยชน์ของการประเมินคุณภาพภูมิทัศน์ ช่วยสร้างความเข้าใจเรื่องโครงสร้าง บทบาทหน้าที่ของภูมิทัศน์ ความสำคัญและประโยชน์ต่อชุมชน สามารถนำไปวางแผนทางด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม การพัฒนา ปรับปรุงการหาเลี้ยงชีพที่เหมาะสมกับภูมิทัศน์   

กรณีศึกษา: ภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ ตำบลชำราก อ.เมือง จ.ตราด

สถาบันลูกโลกสีเขียวจึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “บทบาทของภูมิทัศน์กับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการใช้ประโยชน์ที่ดิน กรณีศึกษา: ภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ ตำบลชำราก อ.เมือง จ.ตราด ร่วมกับเทศบาลตำบลชำราก และกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติชำราก พื้นที่ตำบลชำราก อ.เมือง จ.ตราด มีองค์ประกอบของทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเกิดจากภูมิประเทศที่เอื้อต่อการเกิดและดำรงอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ก่อเกิดภูมิทัศน์ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำที่ประกอบด้วยระบบนิเวศที่หลากหลาย อาทิ ระบบนิเวศป่าไม้ ระบบนิเวศเกษตรกรรม (สวนผลไม้, ยางพารา และนาข้าว) ระบบนิเวศที่อยู่อาศัย ระบบนิเวศป่าชายเลน และระบบนิเวศชายฝั่ง (หน้าทะเล) ซึ่งระบบนิเวศในพื้นที่เหล่านี้มีความซับซ้อน เชื่อมโยงต่อกันและมีผลต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชุมชนโดยตรงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ความคงอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนจึงมีความสำคัญต่อชุมชนเป็นอันมาก และการ “คงอยู่” ที่จะเกิดเป็นรูปธรรมได้นั้นจำเป็นต้องเกิดจากการเรียนรู้เพื่อทราบถึงบทบาท หน้าที่ และความสัมพันธ์ ของระบบนิเวศ ด้วยวิธีการประเมินบทบาทของภูมิทัศน์อย่างมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นนั้น เพื่อเป็นเครื่องมือนำไปสู่แผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในระบบนิเวศ

ชาวบ้านได้ทำการประเมินภูมิทัศน์ในพื้นที่ของตนเองทั้งแหล่งต้นน้ำที่อยู่บนยอดเขา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืดที่สำคัญของหมู่บ้านมีการทำฝ่ายน้ำล้นไว้เพื่อเริ่มการชะลอน้ำจืด กลางน้ำ ที่เป็นคลองไหลผ่านพื้นที่หมู่บ้านเพื่อนำน้ำใช้ในการเกษตรทั้งการทำสวน นา ทั้งมียังฝายชะลอน้ำจืดถึง 3 ฝาย ตามด้วยเขื่อนกั้นน้ำจืดกับน้ำเค็ม ก่อนจะไหลลงสู่ทะเล  สุดท้ายคือแหล่งปลายน้ำ เป็นพื้นที่ป่าชายเลน ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของพื้นป่า เป็นทั้งแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และทำการประมงขนาดเล็กของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านได้เห็นถึงความสัมพันธ์ของแต่ละระบบนิเวศในพื้นที่ แต่ละส่วนที่ล้วนมีความเชื่อมโยงถึงกัน จึงควรดูแลรักษาอย่างเป็นระบบ ผ่านการประเมินภูมิทัศน์ด้วยตนเองทำให้เกิดความเข้าใจในพื้นที่ของตนเองอย่างแท้จริง เพื่อจะได้มองเห็นของดี และข้อด้อยที่ต้องนำไปปรับปรุงแก้ไข

ผลการประเมินภูมิทัศน์ในพื้นที่ตนเองทำให้เห็นถึงจุดเด่น และจุดเปราะบางที่ควรได้รับการแก้ไขในพื้นที่ เช่น ต้นน้ำของชำรากมีการจัดการบริหารโดยชุมชนที่ดี แต่ยังขาดการจัดการดินที่มีประสิทธิภาพ ส่วนกลางน้ำที่มีสวน นา คลอง พบปัญหาขาดความหลากหลายของพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ปลายน้ำในส่วนของป่าชายเลน ยังทำหน้าที่ในการรักษาภูมิอากาศ และการป้องกันภัยภัยพิบัติ แต่นวัตกรรมของชุมชนในการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงยังไม่ทันกับสถานการณ์ ชาวประมงประสบปัญหาจำนวนสัตว์น้ำลดลง เนื่องจากทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำนั้นมีความสัมพันธ์ถึงกันของตำบลชำราก นำไปสู่การวางแผนในการพัฒนาภูมิทัศน์เพื่อการดูแล ฟื้นฟูและรักษาระบบนิเวศร่วมกัน  โดยแผนการจัดการและการใช้ประโยชน์ภูมิทัศน์ของชาวบ้านตำบลชำราก 3 ด้าน คือด้านการจัดการทรัพยากร วิถีชีวิต และงานวิจัยเชิงลึก  ประกอบด้วย 5 แผนงาน ได้แก่

  1. การทำฝายขนาดเล็ก ในลำคลองของหมู่บ้าน เพื่อทำการชะลอน้ำจืดที่ไหลมาจากแหล่งต้นน้ำไม่ให้ไหลลงสู่ทะเลเร็วเกินไป ไว้ในในการทำการเกษตรของหมู่บ้าน
  2. การปลูกพืชริมน้ำ เป็นการปลูกพืชเพื่อรักษาดินไม่ให้เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดินริมคลอง เป็นแหล่งที่ให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น และยังสามารถเป็นทางเชื่อมโยงเคลื่อนย้ายของสิ่งมีชีวิตได้
  3. การจัดการไฟป่า มีการให้ความรู้กับชาวบ้านเรื่องไฟป่า เนื่องจากในพื้นที่มักได้รับผลกระทบจากไฟป่ามาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ร่วมถึงวางแนวทางการจัดการทั้งแหล่งน้ำ และทำแนวกันไฟ
  4. การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและประวัติศาสตร์ จัดทำการท่องเที่ยวตามฤดูกาล เพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่ เช่น ช่วงหน้าผลไม้ก็จะเน้นไปที่การท่องเที่ยวกับสวนผลไม้ หรือจะเป็นเชิงประวัติศาสตร์ในเรื่องของ “ยุทธการบ้านชำราก” พัฒนาเยาวชนในท้องถิ่นให้สามารถเป็นไกด์นำเที่ยวได้ อีกทั้งยังมีป่าชายเลนที่ควรค่าแก่การล่องเรือศึกษา ดูธรรมชาติป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์
  5. การทำวิจัยพืชริมน้ำ เป็นการจัดเก็บข้อมูลพืชที่ขึ้นริมน้ำโดยเยาวชนจากโรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาพื้นที่ต่อไป

การเรียนรู้ทำความเข้าใจ “ภูมิทัศน์” ทำการประเมินให้เข้าถึงบทบาทหน้าที่และความสัมพันธ์ ก็จะสามารถพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนได้


อ้างอิง:

สมศักดิ์ สุขวงศ์. (2551). ภูมิทัศน์วัฒนธรรมกับโลกใบนี้. คณะทำงานรางวัลลูกโลกสีเขียว.

สมศักดิ์ สุขวงศ์ และคณะ. (2560). เอกสารประกอบการอบรมเชิงปฏิบัติการบทบาทของภูมิทัศน์กับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการใช้ประโยชน์ที่ดิน กรณีศึกษา: ภูมิทัศน์ทรัพยากรธรรมชาติ ตำบลชำราก อำเภอเมือง จังหวัดตราด.


5,817