ชุมชนบ้านห้วยหาด ต.อวน อ.ปัว จ.น่าน
รู้จักตั้งรับ-ปรับตัวบ้านห้วยหาด เป็นชุมชนที่ผ่านประสบการณ์มาหลายเรื่อง ในยุค พทค. ชาวบ้านต้องต่อสู้กับสงครามจริงและสงครามจิตวิทยา จากนั้นก็ปรับตัวจากอาชีพหลักที่ปลูกข้าวโพด หันมาทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งถือว่าเป็นงานยากมาก และสามารถเลิกปลูกข้าวโพดได้ทั้งหมด เพราะชุมชนมีความเป็นหนึ่งเดียว โครงสร้างสังคมเป็นระบบเครือญาติ ยึดหลักจารีต ประเพณี วัฒนธรรมไทลื้อ ทั้งภาษา การแต่งกาย ก็ยังรักษาไว้ในชีวิตประจำวัน นี่เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดการปรับตัว มีหน่วยงานหลายแห่งเข้าสนับสนุน ทั้งความรู้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตบนฐานทรัพยากร ทำให้ชาวบ้านสามารถพึ่งตนเองได้ ผู้นำชุมชนก็รู้จักเลือกรับโครงการช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก และนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน จากชุมชนที่เคยทุกข์ร้อนเพราะหนี้สิน กลายเป็นหมู่บ้านที่มีความสุข การฟื้นประเพณีไทลื้อมีส่วนยึดโยงใจคนให้มีทำงานอนุรักษ์ร่วมกัน เช่น การเลี้ยงแก้มหรือการเลี้ยงผีสบห้วย เป็นพิธีบูชาน้ำ การเลี้ยงผีไร่-นา-สวน เป็นการบอกกล่าวผีเจ้าที่เจ้าทางก่อนเริ่มเพาะปลูก การบวชป่าและสืบชะตาน้ำ พิธีกรรมซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดน่าน
พื้นที่ดำเนินงาน : ป่าชุมชนบ้านห้วยหาด จำนวน 2 แปลงจำนวน 756 ไร่ (720 ไร่, 36 ไร่ เป็นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน)
รางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 19 ปี 2561