อนาคตความมั่นคงทางอาหารของไทย
อะไรคือความมั่นคงทางอาหาร เป็นประเด็นสำคัญต่อคุณภาพชีวิตคนและสังคมในปัจจุบันอย่างยิ่ง เมื่อประชากรเพิ่มจำนวนมากขึ้น พื้นที่การเพาะปลูกลดลง ขณะที่ต้องเผชิญกับปัญหาภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนแต่กระทบกับการเพาะปลูกและผลผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัด ขณะที่การใช้สารเคมีเร่งการผลิต และการกำจัดศัตรูพืช รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ โดยเฉพาะการตัดต่อพันธุกรรมเข้ามาเพิ่มผลผลิตนั้น จะแก้ปัญหาขาดแคลนอาหารและความไม่เพียงพอหรือไม่ ก็เป็นข้อถกเถียงระหว่างฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้านที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้
ในงานพิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 15 ได้หยิบยกประเด็น “ความมั่นคงทางอาหาร” นี้มาเป็นหัวข้อเวทีเสวนาเรื่อง “ใครคือผู้กำหนด...อนาคตความมั่นคงทางอาหารของไทย” เพื่ออภิปราย ระดมความคิดเห็น และหาทางออกจากประสบการณ์ของชาวชุมชนลูกโลกสีเขียว นักวิจัย นักวิชาการ และปราชญ์ผู้รู้
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิวิถี นำเสนอความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย ดังจะเห็นว่าไทยเป็นผู้ส่งออกข้าว กุ้ง มันสำปะหลัง ไก่ ทูน่ากระป๋องและทูน่าแปรรูป สับปะรดกระป๋อง เป็นอันดับ 1 ของโลก ส่งออกสินค้าประมง และข้าวโพดหวานสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก (ยางพารา ส่งออกเป็นอันดะย 1 ของโลก) และบริษัทยักษ์ใหญ่ในการผลิตอาหารสัตว์เป็นบริษัทในประเทศไทย เราจึงเห็นพื้นที่หลายๆ ที่กลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด ทว่าประชากรเกือบ 5 ล้านคนในประเทศไทยยังคงได้รับอาหารไม่เพียงพอ การผลิตแบบนั้นจึงไม่ได้ตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารมีความซับซ้อนมากขึ้น ฉะนั้นเราต้องกลับมาดูในเชิงระบบต้องดูทั้งฐานทรัพยากร การผลิต ระบบกระจายอาหาร วัฒนธรรมการบริโภคและนโยบายอาหาร
จากข้อมูลสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ผลปรากฏว่า ในภาคเหนือและภาคกลาง ส่วนใหญ่ซื้อพันธุ์ข้าวจากพ่อค้า หมายความว่า ชาวนาจะพึ่งพาฐานทรัพยากรตัวเองน้อยลงไปพึ่งพาภายนอกมากขึ้น ถ้าเราใช้พันธุ์ข้าวจากภายนอก ต้นทุนในการผลิตจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 36 แถมพันธุ์ข้าวจากพ่อค้ายังเป็น “พันธุ์ข้าวลูกผสม เป็นพันธุ์ข้าวที่ผสมพันธุ์ขึ้น โดยวิธีที่เกษตรกรไม่สามารถเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อได้ ต้องซื้อทุกฤดูปลูก”

ในการแก้ปัญหาเรื่องพันธุ์ข้าว แนวทางการผลิตแบบชีววิถีของพ่อแดง หาทวี และเครือข่ายชาวนา จ.อุบลราชธานี ซึ่งทางมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีทำการศึกษา พบว่า การผลิตแบบชีววิถีให้ผลผลิตข้าวสูงสุด 1,206 กก./ไร่ (ความชื้น 15%) โดยไม่ใช้สารเคมี พันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ชาวนาใช้ให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่าพันธุ์ข้าว จากหน่วยงานของราชการ/เอกชน และพื้นที่นาทั่วไปของภาคอีสานสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวได้เฉลี่ยน 800 กก./ไร่ หรือมากกว่า 1 เท่าของการผลิตแบบปัจจุบันได้ โดยการผลิตแบบอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพสามารถทำหน้าที่เป็นฮอร์โมนพืชและปุ๋ยอินทรีย์ได้จริง
ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยว นำเสนอว่า ความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้านคือ มีข้าวกิน มีกับข้าวที่เหมาะสม มีผลไม้ตามฤดูกาล และไม่เสี่ยงภัยกับการขาดแคลนอาหาร อาหารมาจาก 4 ฐาน คือ ทรัพยากร การผลิต วัฒนธรรม และการค้า ต้องมองให้พ้นความมั่นคงทางอาหารแบบพื้นฐาน คือ พอกิน ปลอดภัย ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่า น้ำ และทะเล แต่ความอุดมสมบูรณ์อย่างเดียวไม่ถือว่าเป็นความมั่นคงด้านอาหาร ถ้ามีความอุดมสมบูรณ์ แต่ชาวบ้านเข้าไม่ถึง ไม่สามารถใช้หาอยู่หากินได้ ความอุดมสมบูรณ์นั้นก็ไม่มีประโยชน์ ความมั่นคงทางอาหาร ชาวบ้านต้องมีอำนาจในการจัดการ และเข้าถึงฐานทรัพยากรตรงนั้นด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ จริยธรรมทางอาหารต้องเข้าใจในคุณค่าอาหารในแง่ความดี ความงาม อาหารต้องสู่การเกื้อกูลแบ่งปัน ต้องเคารพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสังคม
ถ้าพูดถึงความมั่นคงทางอาหาร ต้องพูดถึง “ตลาด” ด้วย เพราะตลาดเป็นกลไกสำคัญจะต้องเป็นธรรม เข้าถึงได้เท่าเทียมกัน ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ภูเขา และทะเล ไม่สามารถปลูกข้าวได้ จำเป็นต้องซื้อข้าวกิน ตัวกลางก็คือตลาด ความมั่นคงทางอาหารจึงมีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และตลาด
ปัจจุบันหลายๆ พื้นที่จะคล้ายกันคือ ปลูกข้าวเพื่อขายอย่างเดียว และก็มาซื้อข้าวกิน ความมั่นคงทางอาหารจึงเริ่มเป็นปัญหา
ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารฐานชุมชนผ่านการวิจัยเพื่อท้องถิ่น คือ ชุมชนต้องทำเอง ชาวบ้านเป็นคนตั้งโจทย์วิจัยนำปัญหาการวิจัยท้องถิ่น นักวิจัยและปฏิบัติการเพื่อให้ได้คำตอบของปัญหา กล่าวคือ ไม่ได้นำความรู้เป็นตัวตั้งและมาทดสอบความรู้ แต่เราหาความรู้จากที่ชุมชนลงมือ และดูผลที่เกิดขึ้น และสรุปผลออกมาเพื่อยกเป็นความรู้
ด้าน ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ที่ปรึกษาอาวุโสศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เสนอเรื่อง “การมองหารพื้นที่ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” ว่า ป่าไม้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจชุมชน ศูนย์วิจัยป่าไม้ระหว่างประเทศ (CIFOR) ได้สำรวจครอบครัวชนบทมากกว่า 8,000 ครอบครัว ใน 25 ประเทศ พบว่า ร้อยละ 23 ของรายได้นั้นมาจากป่า ผลผลิตจากป่าในเชิงรายได้ครัวเรือนนั้นมีมากว่าค่ารายได้เฉลี่ยจากการเกษตรด้วยซ้ำ ที่ชุมชนบ้านกลาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปา ชาวปกาเกอเญอ มีรายได้จากการเก็บหาหน่อไม้ไผ่หกถึง 1 ล้านบาทต่อปี ฉะนั้นผลผลิตจากป่าที่มีการจัดการที่ดีนั้นสำคัญ การเก็บข้อมูลจากบ้านกลาง 12 ปี ผลผลิตในการเก็บหาหน่อไม้คงที่ ทั้งที่ข้อมูลสถิติน้ำฝนก็มีการผันแปรในแต่ละปี โดยเฉพาะปี 2547 ค่อนข้างแห้งแล้ง นี่คือภูมิทัศน์ที่มีความคงทนต่อการเปลี่ยนแปลงอากาศ ที่น่ามองหา และที่นั่น ภูมิทัศน์รอบล้อมไปด้วยป่า สรุปได้ว่า “ที่ใดก็ตามมีการรักษา รักษาป่าที่ดี ที่นั่นมีความมั่นคงทางอาหาร”
นายบัณฑูรย์ เศรษฐศิโรฒม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นำเสนอถึง “ผลกระทบความมั่นคงทางอาหารต่อการเปิดบ้านรับประชาคมอาเซียน” โดยชี้ให้เห็นว่าเสาหลักสำคัญ 3 เสาของอาเซียน คือ ประชาคมเศรษฐกิจ ประชาคมการเมือง และประชาสังคมวัฒนธรรม ซึ่งตัวที่โยงเรื่องความมั่นคงทางอาหารมากที่สุดคือ ประชาคมเศรษฐกิจ แต่มีแนวโน้มการพัฒนาไปสู่ระบบการผลิตเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารใน 6 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่ 1) ปริมาณ 2) ความปลอดภัย 3) ระบบการผลิตที่หลากหลาย 4) ความหลากหลายทางชีวภาพ 5) การเข้าถึงพันธุกรรม และ 6) การเข้าถึงและการกระจายอาหาร
