การจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง กรณีศึกษา ชุมชนเรวดีโซน 2 จ.นนทบุรี
ในปี 2566 สถาบันฯ ได้รับความอนุเคราะห์จากคณะกรรมการภาค รางวัลลูกโลกสีเขียว ทุกภาค ดำเนินการร่วมกับสถาบันฯ ในการถอดบทเรียนความสำเร็จของชุมชนผลงานรางวัลฯ ที่โดดเด่น โดยภาคกลาง-ตะวันออก ได้พิจารณาชุมชนเรวดีโซน 2 เทศบาลนครนนทบุรี จ.นนทบุรี ผลงานรางวัลฯ ประเภทชุมชน ครั้งที่ 16 ประจำปี พ.ศ.2557 และประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน ครั้งที่ 21 ประจำปี พ.ศ.2563-2564 เป็นชุมชนต้นแบบด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในเมือง
ผลจากการจัดเวทีถอดบทเรียนชุมชนเรวดีโซน 2 พบว่ามีบทเรียนความสำเร็จที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนอื่น ดังนี้
- แกนนำมีความหลากหลาย ทำงานเป็นทีม ทั้งผู้นำทางความคิด ผู้ปฏิบัติการ ผู้ประสานงาน เป็นนักเรียนรู้ที่มุ่งสู่การปฏิบัติ รู้บทบาทของตนเองชัดเจน ไม่มีโครงสร้างอย่างเป็นทางการ คิดเชื่อมโยง บูรณาการในทุกมิติ เช่น สิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคมสูงวัย จิตใจ เป็นต้น มีความเสียสละ ใจกว้าง แบ่งปัน ทำให้คนในทีมมองความเป็นชุมชนร่วมกัน สร้างบรรยากาศ เอื้ออำนวยให้ทุกคนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม
- การมีส่วนร่วม แกนนำและสมาชิกร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นความต้องการของชุมชน ทำให้ทุกคนเห็นคุณค่า ให้ความสำคัญ ให้ใจ ให้เวลา เข้าร่วมกิจกรรมที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง เป็นกระบวนการส่งต่อคุณค่าการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองขยายสู่คนใหม่ๆ ไม่ขาดสาย
- คุณค่าของพื้นที่สีเขียว จากปัญหาสิ่งแวดล้อมเรื่องการจัดการขยะ ทำให้ชุมชนร่วมมือกันจัดการ แก้ไข จนกลายเป็นชุมชนไร้ถังขยะ ความร่วมมือของชุมชนได้ต่อยอดไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต ปลูกต้นไม้ ขยายพื้นที่สีเขียว เกิด “แหล่งเรียนรู้ลูกโลกสีเขียว” ที่สร้างแรงกระเพื่อมด้านสิ่งแวดล้อม เกิดพื้นที่สีเขียวแหล่งใหม่ ๆ หลากหลายในชุมชน เกิดคุณค่า ลดมลภาวะ เพิ่มออกซิเจน เพิ่มความชื้น ลดอุณหภูมิในอากาศเป็นประโยชน์ด้านนันทนาการ เป็นพื้นที่ออกกำลังกายสร้างสุขภาพทางกายและใจ เป็นพื้นที่รองรับสังคมสูงวัย โอบอุ้มจิตใจของกันและกัน ทำให้ผู้คนได้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ ข้ามขอบเขตของรั้วบ้าน เป็นการเชื่อมสังคมร่วมนิเวศเดียวกัน ในด้านการเรียนรู้เป็นโรงเรียนด้านสิ่งแวดล้อมในเมืองของชุมชน สร้างการเรียนรู้การปลูกต้นไม้ หมักปุ๋ยจากเศษอาหาร การจัดการพลังงานทางเลือก การจัดการขยะ การจัดการน้ำเสีย นำไปสู่การเป็นชุมชนคาร์บอนต่ำ
- การหนุนเสริมจากภาคีภายนอก ทั้งภาครัฐ และหน่วยงานภาคเอกชน เช่น เทศบาลนครนนทบุรี สถาบันลูกโลกสีเขียว กองทุนโรงไฟฟ้า เป็นต้น สร้างความเป็นหุ้นส่วนในการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองร่วมกัน เช่น การส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ให้ความรู้ ให้ข้อมูล ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่ปฏิบัติการในพื้นที่ รวมถึงมาตรการทางนโยบายที่เอื้ออำนวยให้เกิดการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองอย่างต่อเนื่อง
คณะกรรมการภาคฯ ได้เชิญผู้แทนชุมชนเรวดีโซน 2 ชุมชนข้างเคียง และภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมรับฟังข้อมูลบทเรียนความสำเร็จและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งช่วยจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในชุมชนเรวดีโซน 2 ต่อไป